4| | | | | | | | |ยินดีต้อนรับสู่บล็อกของ กรรณิกา จิตรเจริญ| | | | | | | | |3

วัจนภาษา


2.วัจนภาษา
เป็นวัฒนธรรมประจำชาติที่ชัดเจน วัฒนธรรมทางภาษาของไทยสืบทอดมาตั้งแต่พ่อขุนรามคำแหงคืออักษรไทย วิธีการเขียนจากว้ายไปขวาเป็นวัฒนธรรมในการเขียนอย่างหนึ่งของสังคมไทยที่ต่างจากหลายชาติในเอเชีย เช่น จีน ญี่ปุ่น เราจะเห็นว่าหนังสือญี่ปุ่นหรือจีนเปิดจากด้านหลังมาด้านหน้าด้วยเหตุจากวัฒนธรรมการเขียนเช่นนี้
วัจนภาษาการใช้วัจนภาษาของไทยมีดังนี้
2.1วัฒนธรรมการใช้ภาษาหลากหลาย
สื่อความหมายเดียวกันหรือใกล้เคียงกันสำหรับบุคคลต่างๆระดับ ต่างกลุ่มกัน เช่น คำว่ากินอาจใช้ตั้งแต่ ยัด กิ ทาม รับประทาน เสวย เป็นต้น หรือคำแทนตัวผู้พูดบุรุษที่1 ก็มีทั้ง ข้า กู ฉัน ผม กระผม ดิฉัน พี่ น้อง เรา กัน ข้าพเจ้า ข้าพระพุทธเจ้า ฯลฯ ส่วนคำเรียกบุรุษที่2 ก็มีมากมาย เช่น เธอ หล่อน มึง เอ็ง ท่าน ใต้เท้า ฝ่าบาท ฯลฯ ทั้งนี้แล้วแต่ฐานะ-ตำแหน่งของบุคคลที่ทำการสื่อสาร
2.2 วัฒนธรรมในการสร้างความสัมพันธ์ระบบเครือญาติด้วยภาษา
เช่น สังคมมักกำหนดให้คนรู้จัก หรือคนที่ต้องการสื่อสารด้วยไม่ว่าจะเป็นสื่อสารเฉพาะหน้า หรือผ่านสื่อมวลชนเป็นเครือญาติโดยปริยายด้วยภาษาทีเป็นคำเรียกหรือกล่าวถึง เช่น กำหนดให้เป็น พ่อ พ่อลุง พี่ ป้า น้า อา ตา ยาย น้อง พี่ (น่าสังเกตไม่นิยมญาติข้างพ่อ เช่น ปู่ ย่า เป็นคำเรียกเครือญาติสมมติเหล่านี้ แสดงว่าสังคมไทยให้ความสำคัญกับญาติข้างแม่)
2.3 วัฒนธรรมให้การกำหนดคำลงท้าย
ที่ช่วยให้การสื่อสารระหว่างบุคคลสุภาพและนุ่มนวลขึ้น เช่นคำว่า คะ จ๊ะ ครับ ขอรับกระผม ฯลฯ
2.4 วัฒนธรรมในการใช้คำคล้องจอง
ลักษณะคล้ายกลอนเพลง เพื่อให้เสียงเป็นจังหวะ และช่วยในการจดจำ และไพเราะ เช่น การพูดโดยการเติมสร้อยคำ หรือที่เรียกว่า อุทานเสริมบท เช่น ไม่กินไม่เกินมันละหรือ เอะอะมะเทิ่งจริงๆ เป็นต้น รวมทั้งคำกล่าวประเภทสุภาษิต ภาษิตคำพังเพยต่างๆ (ซึ่งจะกล่าวในข้อความต่อไปนี้) อาจเป็นไปได้ว่าลักษณะนี้ที่คนไทยชอบคำขวัญที่คล้องจองกันมากกว่าคำประกาศต่างๆเช่น ชอบหรือจำได้กับคำขวัญที่ว่า เป๊บซี่ดี่ที่สุด มากกว่าเป๊บซี่ของคนรุ่นใหม่ เป็นต้น
2.5 วัฒนธรรมการใช้ภาษาในการอธิบายความหมายมากกว่าคำพูดตรงๆ
เช่น การเปรียบเปรย เปรียบเทียบ เหน็บแนมทั้งด้วยวิธีการที่เรียกว่า ภาพพจน์ (Figure of Speech) และการใช้คำสุภาษิต คำพังเพย เช่น เปรียบชีวิตคู่ที่ทะเลาะเบาะแว้งว่า ขิงก็ราข่าก็แรง แปลว่า แรงพอๆ กันลิ้นกับฟัน ในความหมายว่า คู่ครองกันมักจะกระทบกระทังกันเสมอ แต่ที่จริงก็เป็นสิ่งใกล้ชิดกันและสำคัญพอๆกัน เป็นตัน คำเปรียบเหล่านี้มีทั้งที่ใช้สัมผัสกัน และความเปรียบธรรมดา แต่โดยทั่วไปแล้วนิยมใช้ระหว่าง 3-5 คำ ใน 1 วรรค โดยการเปรียบเทียบ บางครั้งอาจมีมากกว่า1วรรคก็ได้ เช่นหัวล้านได้หวี ตาบอดได้แว่น หมายความว่า ได้สิ่งที่ไม่เหมาะสมกับตน เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีขอสังเกตบางประการที่แทรกอยู่ในวัจนภาษาและอวัจนภาษาในสังคมไทย ได้แก่ การที่คนไทยนิยมคำว่า เปล่า ทั้งในการตอบรับและปฏิเสธ และการหยุดหรือการเงียบโดยไม่ใช้การยอมรับตามที่เข้าใจกันซึ่งทำให้ผู้สื่อสารต้องระวังวัฒนธรรมการใช้ภาษาบางประการเหล่านี้ไว้ด้วย
องค์ประกอบที่ทำให้คนไทยใช้ภาษาแตกต่างกัน
ประสิทธิ์ กาพย์กลอน กล่าวเรื่องนี้ไว้ว่า มีองค์ประกอบอยู่ 8 ประการที่ทำให้คนไทยใช้ภาษาแตกต่างกัน ได้แก่
1.อายุและประสบการณ์
ผู้มีอายุต่างกันย่อมใช้ภาษาไม่เหมือนกัน เช่น ย่อมต่างจากภาษาผู้ใหญ่ เด็กรู้จักคำศัพท์น้อยกว่า และพูดตรงๆมากกว่าผู้ใหญ่อีกทั้งสังคมไทยให้ความสำคัญกับผู้อาวุโส ทำให้เราต้องใช้ภาษาที่สุภาพกับผู้ใหญ่มากกว่าพูดกับเด็กวัยเดียวกัน
2.ความใกล้ชิด
ผู้ที่ใกล้ชิดกันย่อมใช้ภาษาเป็นกันเองมากกว่าผู้ที่ใกล้ชิดน้อย เช่น สรรพนาม กู มึง อั๊ว ลื้อ เอ็ง ข้า ย่อมใช้ในหมู่เพื่อนสนิทและเป็นการส่วนตัว ส่วนผู้ที่ไม่สนิทสนมจะใช้ ผม คุณ กระผม ดิฉัน ท่าน เป็นต้น
3. เพศ
เพศหญิงและเพศชาย จะมีสรรพนามและคำลงท้ายที่ต่างกันสำหรับเพศชาย ใช้ ผม กระผม-ครับ ขอรับ ขอรับกระผม ฯลฯ เพศหญิงใช้ ดิฉัน เดี๊ยน-ค่ะ ขา เจ้าค่ะ ฯลฯ คำบางคำใช้เฉพาะเพศ เช่น สวยงาม อ่อนช้อย ใช้กับผู้หญิง และ หล่อ บึกบึน ล่ำ ใช้กับเพศชาย เป็นต้น
4.โอกาส
ในโอกาสที่ต่างกันย่อมทำให้ภาษาผันแปรต่างกันออกไป เช่น การพูดในห้องประชุม ต้องใช้ภาษาพิธีกร แต่เมื่ออยู่ในห้องส่วนตัว อาจใช้ภาษากันเองได้
ในที่นี้ขอตีความเพิ่มเติมว่า โอกาส รวมไปถึงสื่อชนิดต่างๆด้วย การพูดทางวิทยุกระจายเสียงแม้จะใช้ภาษาสนทนา แต่ต้องใช้ภาษาสนทนาสุภาพ หรือการพูดหน้าที่ประชุมย่อมจากการพูดระหว่างเพื่อนสนิทการเขียนในหน้าหนังสือพิมพ์ ย่อมต่างจากการเขียนจดหมายส่วนตัว เป็นต้น
5. อาชีพ
บุคคลในวงอาชีพต่างๆ มักมีศัพท์เฉพาะในวงการนั้นๆ เช่น ศัพท์ของพวกแพทย์ ศัพท์วงการสื่อมวลชน ศัพท์ของนักคอมพิงเตอร์ เป็นต้น
6.การอบรมเลี้ยวดูและการศึกษา
ผู้ที่ได้รับการอบรมและศึกษาไม่เหมือนกันย่อมใช้ภาษาได้ไม่เหมือนกันทั้งในแง่ความกว้างของวงศัพท์ ความเหมาะสมในการเลือกใช้คำศัพท์
7. ตำแหน่งและฐานะทางสังคม
ตำแหน่งหน้าที่การงาน การปกครอง ย่อมทำให้การใช้ภาษาผิดระดับไป เช่น ผู้บังคับบัญชา พูดกับผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาย่อมต่างจากผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาพูดกับผู้บังคับบัญชา ครูพูดกับศิษย์ย่อมต่างจากพูดกับครู เป็นต้น
ปัจจุบันช่องว่างด้านภาษาในประเด็นนี้มีลดน้อยลง ผู้ส่งสาร ผู้รับสารมักอาศัยความเข้าใจ เจตนาในการสื่อสารและความจริงใจเป็นหลักมากกว่าระดับชนชั้นดังเช่นสมัยก่อน


8. สภาพทางภูมิศาสตร์
สภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์เป็นตัวกำหนดภาษา ทำให้ภาษาไทยจำแนกเป็นภาษาถิ่นต่างๆ เช่น ภาษาเหนือ ภาษาอีสาน ภาษาใต้ ภาษากลาง เป็นต้น นอกจากนั้นยังแยกย่อยตามเชื้อชาติชนถิ่นในภาคต่างๆอีก แต่ในปัจจุบันภาษากลางหรือกรุงเทพฯ ก็เป็นภาษาที่ยอมรับและเป็นที่เข้าใจได้โดยทั่วไป สำหรับประชาชนในแต่ละภาคที่มีการศึกษาพอสมควร
วัฒนธรรมกับภาษา เป็นสิ่งสัมพันธ์กันตั้งแต่กำเนิดของภาษามาจนถึงการใช้ภาษา ผู้สื่อสารจำเป็นต้องรู้วัฒนธรรมการใช้ภาษาแต่ละสังคม ให้ละเอียดก่อนทำการสื่อสาร แม้ตัวการสื่อสารเองก็เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งลักษณะของการสื่อสารแต่ละวัฒนธรรมก็มีความหมายแตกต่างกันออกไป ผู้ที่จะส่งสารจึงจำเป็นต้องตระหนักถึงความสำคัญของการเรียนรู้วัฒนธรรมและระมัดระวังเรื่องวัฒนธรรมในการใช้ภาษาเพื่อสื่อสารให้มาก

อ้างอิง
อวยพร พานิช.ภาษาและหลักการเขียนเพื่อการสื่อสาร.กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.2543



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น